ดอกสว่าน เป็นอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งของเครื่องมือช่างที่ต้องมี ซึ่งใช้ทำหน้าที่กัดเจาะเนื้อวัสดุต่างๆออกมาเป็นรู เพื่อที่เราจะได้ใช้รูในการจับยึด หรือ ตอกตะปู หรือ ใส่พุกเพื่อขันน็อตหรือสกรู และยึดน็อตได้สะดวก และ หลักการง่ายๆในการเลือกก็คือ วัสดุที่ถูกเจาะต้องอ่อนกว่าวัสดุทำดอกสว่านเสมอ
ในปัจจุบัน ดอกสว่าน มีหลายแบบให้เลือกใช้มากมายหลายขนาด พัฒนาตามวัตถุประสงค์ของงานหรือวัสดุที่ต้องการเจาะรู ไม่ว่าจะเป็นไม้ เหล็ก ปูนหรืองานคอนกรีต ดังนั้นการเลือกซื้อดอกสว่านมาใช้งาน เราจึงต้องรู้ไว้ด้วยว่าจะนำดอกสว่านไปใช้กับงานอะไร สำหรับดอกสว่านเองนั้นเองก็ไม่สามารถเจาะวัสดุต่างๆ ได้ตัวของมันเอง แต่จะต้องใช้งานควบคู่ไปกับเครื่องสว่านเสมอ โดยเครื่องสว่านจะทำหน้าที่ยึดจับดอกสว่านให้หมุนเจาะวัสดุ และไม่ให้สะบัดในขณะใช้งาน โดยมีให้เลือกใช้ทั้งแบบมือ(ไม่ค่อยเห็นใช้กันแล้ว) และแบบใช้ไฟฟ้า
สำหรับดอกสว่านที่มีจำหน่ายกันอยู่
โดยทั่วไป เราสามารถแยกประเภทตามลักษณะ การนำไปใช้งานอย่างง่ายๆได้ดังต่อไปนี้
- ดอกสว่าน เจาะไม้ ลักษณะปลายดอกจะคล้ายหางปลา เป็นดอกว่านที่ใช้สำหรับเจาะไม้ที่มีขนาดไม่กว้างนัก โดยขนาดที่นิยมใช้กันทั่วไปก็คือ ขนาด 5,6,8หรือ 10 มิลลิเมตร อาทิ ใช้เจาะรูเพื่อใส่บานพับเหล็กบนประตู หน้าต่าง หรือเจาะรูเพื่อร้อยสายไฟต่างๆ หรือตอกหมุนเพื่อการจับยึดไม้เข้าด้วยกัน บ้านไม้ ทรงโบราณนิยมใช้วิธีนี้กัน
- ดอกสว่านเจาะเหล็ก ลักษณะของดอกสว่านเป็นร่องเกลียวตัด (flute) ปลายดอกแหลมเป็นแบบ ป้องกันการหนีศูนย์ ในขณะเริ่มเจาะ (Split Point) ใช้สำหรับจิกนำศูนย์ เจาะได้ตรง ดังนั้นดอกสว่านทำจะเหล็กกล้าไฮสปีด จึงสามารถนำมาใช้เจาะชิ้นงานหลากหลายที่อ่อนกว่าได้ ไม้หรือโลหะทั่วไป รวมถึงพลาสติกได้อีกด้วย
- ดอกสว่านเจาะคอนกรีต ลักษณะของดอกสว่านเป็นเกลียวบิด ส่วนปลายดอกเป็นเหล็กกล้าคาร์ไบด์ ปลายดอกออกแบบ(รูปทรงเจดีย์) เพื่อลดการหนีศูนย์ ในการเจาะกระเบื้องแผ่นเรียบที่มีความแข็งสูง ปลายคาร์ไบด์ช่วยรองรับแรงกระแทกจากการใช้งาน เหมาะสำหรับการเจาะปูน คอนกรีต ซีเมนต์บล็อก หรืออิฐมอญ ไม่ว่าจะเป็นพื้นหรือผนัง
หมายเหตุ: ยังคงมีดอกสว่านอีกหลายหลายรูปแบบในปัจจุบัน จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไปครับผม
คำแนะนำการใช้งานทั่วไปที่ถูกต้อง
- ก่อนการเจาะรูทุกครั้ง ตรวจปลายดอกสว่านทุกครั้ง ถ้าไม่คมต้องทำการลับดอกสว่านใหม่ ถ้าเจาะต่อไปอาจทำให้ดอกสว่านร้อน และ หักได้ ถ้าต้องการเจาะชิ้นงานต้องการความแม่นยำสูง เราก็ควรใช้เหล็กนำศูนย์ตอกนำเสียก่อนตรงตำแหน่งที่จะเจาะรู (ตอกให้เป็นรอยบุ๋มเล็กๆ) เพื่อช่วยให้ปลายดอกสว่าน สามารถกินเนื้องานตรงกับจุดที่เราต้องการ ไม่กระโดดหนีศูนย์ออกไป ที่สำคัญจะต้องยึดชิ้นงานให้ติดแน่นอยู่กับที่ด้วยแท่นยึด
- ควรขันดอกสว่านให้แน่นทุกครั้งด้วยกุญแจขันหัวหสว่าน ก่อนการใช้งาน เพราะถ้าดอกสว่านหลวมอาจทำให้หลุดกระเด็นออกมาได้หรือเจาะไม่เข้า และเมื่อขันจนแน่นดีแล้ว ลองเปิดสวิตช์ให้สว่านหมุน เพื่อดูว่าปลายดอกสว่านหมุนแกว่งหรือไม่ ถ้าเราเห็นว่าดอกสว่านแกว่งไปมา(เสียศูนย์) ให้คลายดอกสว่านออกแล้วขันเข้าไปใหม่เสมอ
- ควรสวมแว่นตานิรภัยเพื่อป้องกันผงฝุ่นที่เกิดจากการเจาะ รวมทั้งเศษวัสดุต่างๆจากชิ้นงานซึ่งอาจกระเด็นมาเข้าตาได้ และควรแต่งกายให้รัดกุม เสื้อแขนยาวไม่ควรใส่ รวมถึงนาฬิกาด้วย เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ และเมื่อเลิกใช้งานแล้วให้ถอดดอกสว่านออกมาเพื่อทำความสะอาดก่อนนำไปเก็บเข้าที่